มาตรฐานปลูกข้าวยั่งยืน ชาวนาไทยพร้อมแค่ไหน ?
มาตรฐานปลูกข้าวยั่งยืน ชาวนาไทยพร้อมแค่ไหน ?
ในยุคแห่งการปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องดิจิทัลยึดครองโลก วิถีชีวิตนิวนอร์มอล และภูมิอากาศโลกเปลี่ยนไปเพราะภาวะโลกร้อน…ชาวนาไทยไม่เพียงจะต้องปรับตัวให้เข้ากับการผลิตปลูกข้าวให้ได้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) เท่านั้น
วันนี้ยังต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRP : Sustainnable Rics Platform) อีกต่างหาก
เพราะถ้าไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ามาตรฐานนี้ ในอนาคตข้างหน้า ชาวนาไทยอาจจะต้องปลูกข้าวไว้กินเองกับขายเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น
ส่วนเรื่องจะปลูกข้าวเพื่อส่งไปขายตลาดต่างประเทศ คงจะเป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้น เพราะจะมีการนำมาตรฐานนี้เรื่องปลูกข้าวก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน มาเป็นเครื่องมือตัวใหม่ในการกีดกันทางการค้า
“มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน หรือ SRP จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียว เพราะมีการคิดทำกันมาตั้งแต่ปี 2558 โดยองค์การสหประชาชาติ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ และประเทศสมาชิกภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐานนี้ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาการปลูกข้าวไม่ถูกวิธี ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เช่น การเอาน้ำไปขังในนาไว้นาน ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน การเกี่ยวข้าวที่ทำให้ต้องอบความชื้นนานทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน รวมไปถึงการเผาตอซังที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นต้น
แต่มาตรฐานและวิธีการปลูกข้าวที่ยั่งยืนนี้ไม่ได้เน้นไปที่ลดโลกร้อนอย่างเดียว ยังเน้นถึงวิธีการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และการตลาด ที่ทำให้ชาวนาสามารถยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วย และขณะนี้มีประเทศที่ปลูกข้าว เริ่มนำมาตรฐานนี้มาใช้กับการปลูกในประเทศตัวเองกันบ้างแล้ว เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย สำหรับบ้านเราเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกรมการข้าว กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ในจังหวัดอุบลราชธานี”
นายมนตรี พรหมลักษณ์ ผู้จัดการโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (MSVC) เผยที่มาของมาตรฐานการผลิตข้าวตัวใหม่ที่จะถูกนำมาใช้ในอนาคต พร้อมกับอธิบายวิธีการทำนาแบบ SRP…ที่มีหลักการปฏิบัติ 8 หมวด และข้อกำหนดการปฏิบัติ 41 ข้อ
หลักการปฏิบัติ หมวดที่ 1…ต้องมีแผนการผลิต ชีวิตเปลี่ยน 1) มีการจัดทำปฏิทินเพาะปลูกข้าว 2) มีการจัดบันทึกข้อมูลกิจกรรมในไร่นา 3) รับการฝึกอบรมหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
หมวดที่ 2…เตรียมการดี ไม่มีปัญหา 4) ไม่มีการปนเปื้อนของโลหะในดินและข้าว 5) แปลงนาไม่มีปัญหาดินเค็ม 6) ที่ตั้งแปลงนาไม่บุกรุกป่า และมีความหลากหลายทางชีวภาพ 7) ไม่มีสายพันธุ์สัตว์หรือพืช รุกราน 8) มีการปรับระดับพื้นที่แปลงนาให้สม่ำเสมอ 9) ใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้
หมวดที่ 3…ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ไม่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม 10) มีระบบจัดการน้ำที่ดี 11) มีระบบชลประทานระดับชุมชนที่ดี 12) คุณภาพน้ำต้นทุนในระบบชลประทานดี 13) การขุดเจาะน้ำบาดาลถูกกฎหมาย 14) มีการระบายน้ำออกจากแปลงนาอย่างถูกต้อง
หมวดที่ 4…ใช้ปุ๋ยถูกวิธี ดินดี ลดต้นทุน 15) มีการจัดการแร่ธาตุอาหารพืชอย่างมีประ-สิทธิภาพ 16) มีการใช้ปุ๋ยในแปลงนาอย่างถูกต้อง 17) ใช้ปุ๋ยแคมีที่ถูกกฎหมาย ไม่เป็นปุ๋ยปลอม
หมวดที่ 5…การป้องกันและกำจัดศัตรูข้าวที่ดี ชีวีปลอดภัย มีกำไรเพิ่ม 18) มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น วัชพืช แมลงศัตรูข้าว โรคข้าว หอยเชอร์รี หนู และนก
หมวดที่ 6…เก็บเกี่ยวถูกวิธี ผลผลิตดี มีคุณภาพ 19) ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวเหมาะสม 20) มีการจัดการอุปกรณ์เก็บเกี่ยว 21) มีการลดความชื้นผลผลิตข้าวและจดบันทึก 22) มีการปฏิบัติตามการลดความชื้นผลผลิตที่ถูกต้อง 23) มีการจัดการเก็บรักษาผลผลิตที่ดี 24) มีการจัดการตอซังข้าวที่ดี 25) มีการจัดการฟางที่ดี
หมวดที่ 7…ทำนาปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 26) มีความปลอดภัยของแรงงาน 27) มีการจัดการเครื่องมือและอุปกรณ์การทำนาน 28) มีการฝึกอบรมผู้ฉีดพ่นสารเคมี 29) ใช้ชุดอุปกรณ์ PPE 30) ซักล้างเปลี่ยนชุดหลังการใช้ 31) ห้ามฉีดพ่นสารเคมีตามกำหนด 32) ห้ามเข้าแปลงนาหลังพ่นยา 33) จัดเก็บสารเคมีถูกต้อง 34) กำจัดบรรจุภัณฑ์สารเคมีถูกต้อง
และหลักการปฏิบัติ หมวดที่ 8…เอื้ออารี คือ วิถีชาวนาไทย 35) ไม่มีการใช้แรงงานเด็กอายุตํ่ากว่า 15 ปี 36) ไม่มีการใช้แรงงานเด็กอายุตำกว่า 18 ปี ปฏิบัติงานที่เป็นอันตราย 37) สนับสนุนการศึกษาของแรงงานที่ช่วยทำนา 38) ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ 39) ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อแรงงาน 40) ให้สิทธิแรงงานเข้าร่วมสมาคม 41) ให้ค่าแรงงานตามกฎหมาย
สิ่งเหล่านี้เป็นข้อกำหนดในมาตรฐานการผลิตข้าวที่ชาวนาไทยจะต้องปรับตัว…แต่จะทำตามข้อกำหนดเหล่านี้กันได้แค่ไหน ชาวนาพร้อมจะปรับตัวหรือไม่ รวมทั้งภาครัฐเองจะมีความพร้อมแค่ไหน เพราะข้อกำหนดในบางเรื่อง ดูเหมือนภาครัฐจะจนใจรับมือ โดยเฉพาะในเรื่องน้ำและดิน ที่จะต้องมีระบบชลประทานที่ดี ดินต้องไม่เค็ม
แต่ถ้าทำได้ อนาคตข้าวไทยสดใสแน่…เพราะวันนี้ชาวนาอุบลราชธานี 8,128 ราย ทำได้แล้ว และบริษัท โอนแลม (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำบันทึกลงนามรับซื้อข้าวมาตรฐาน SRP จำนวน 39,000 ตัน จากแปลง 97,797 ไร่ ไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมให้ราคาเพิ่มพิเศษ ตันละ 100-150 บาท สำหรับชาวนาที่เข้าอบรมการผลิตข้าวที่ยั่งยืน โดยข้าวมีสิ่งเจือปนไม่เกิน 2% และมีความชื้นไม่เกิน 25-30%.
ขอบคุณที่มา : thairath.co.th