ระเบิดเวลาราคาข้าว อาจล้นตลาดในฤดูกาลเก็บเกี่ยวหน้า ถ้าเรายังไม่เพิ่มปริมาณการส่งออก
ระเบิดเวลาราคาข้าว อาจล้นตลาดในฤดูกาลเก็บเกี่ยวหน้า ถ้าเรายังไม่เพิ่มปริมาณการส่งออก
ราคา ข้าวสารส่งออกของไทยลดลงอย่างรวดเร็วมาก โดยราคาส่งออกข้าวหอมมะลิลดลงร้อยละ 6, ข้าวขาวลดลงร้อยละ 8 และข้าวนึ่งลดลงร้อยละ 7.5 ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ของเดือนมิถุนายน 2564
ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงอย่างมาก โดยส่งออกได้เพียง 1.8 ล้านต้น จากที่เคยส่งออกได้ 4.5 ล้านตัน ของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 และ 2.6 ล้านตันของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 (-60% จากปี 2560 และ -30% จากปี 2563)
ในกรณีของข้าวสารเจ้าขาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักของไทย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 เราส่งออกข้าวสารเจ้าขาวได้เพียง 0.6 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับหนึ่งในสี่ของปริมาณที่เราเคยส่งออกได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 เท่านั้น
สถานการณ์ในตลาดข้าวโลกดังกล่าวได้เริ่มกดดันให้ราคา ข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคา ข้าวเปลือกเจ้าในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน 2564 ลดลงไป 3.4% จากเดือนก่อน และลดลงไป 9.3% จากเดือนมีนาคม 2564
ส่วนราคา ข้าวเปลือกหอมมะลิลดลงไป 6.1% จากเดือนก่อน และลดลงไป 9.2% จากเดือนมีนาคม 2564 หรือลดลงไป 1,087 บาท/ตันแล้วในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือน
นอกจากนี้ ยังมีข้าวที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อการชะลอการขายข้าวกับ ธ.ก.ส. (หรือ โครงการจำนำยุ้งฉาง) ที่รอการระบายสู่ตลาดอีกประมาณ 1.1 ล้านตัน หากมีการระบายในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็จะกดราคา ข้าวเปลือกให้ต่ำลง
แต่ถ้าไม่ระบายข้าวออกมาก็จะทำให้ยุ้งฉางที่จะใช้ชะลอการขายข้าวในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว (ในอีก 4 เดือนข้างหน้า) ก็จะมีจำนวนจำกัด และอาจมีผลให้ราคา ข้าวในฤดูกาลใหม่ตกต่ำได้
หากในระยะ 4 เดือนนี้ รัฐบาลไม่สามารถเตรียมการแก้ไขปัญหานี้ และราคา ข้าวช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวตกต่ำลงเหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2559 กดดันให้กำลังซื้อของเกษตรกร และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ได้รับผลกระทบ และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หลังสถานการณ์โควิด-19 ได้
ในระยะสั้น รัฐบาลควร
(ก) ประสานกับผู้ส่งออกในการเร่งหาทางส่งออกข้าวในตลาดต่าง ๆ รวมถึงการเจรจาเพื่อใช้ข้าวเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับสินค้านำเข้า
(ข) กำหนดมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในการชะลอการขายข้าวในช่วงต้นฤดู
(ค) การกระตุ้นตลาดภายในประเทศในช่วงที่ข้าวใหม่ออกสู่ตลาด รวมถึงการเตรียมแนวทางในการแปรรูปข้าวจำนวนมาก
ในระยะยาว ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต จากข้าวที่มีผลผลิตปริมาณมากแต่คุณภาพและราคาด้อยกว่า มาสู่การผลิตข้าวที่มีคุณภาพดีและตลาดมีความต้องการ
แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการส่งเสริมการตลาด และดูแลราคาข้าวเหล่านี้ จนสามารถสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรได้
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ think.moveforwardparty.org facebook เพจ Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต