เตือนเกษตรกรผู้ที่ปลูกถั่วเขียว ให้เฝ้าระวังการระบาดของโรคใบด่างถั่วเขียว
เตือนเกษตรกรผู้ที่ปลูกถั่วเขียว ให้เฝ้าระวังการระบาดของโรคใบด่างถั่วเขียว
- ขณะนี้พบการระบาดของ โรคใบด่างถั่วเขียว ในพื้นที่ปลูกถั่วเขียวที่สำคัญของประเทศ รวมพื้นที่กว่า 180,000 ไร่
- ถั่วเขียวที่พบเป็นโรคใบด่างใบจะมีลักษณะด่างเหลือง การออกดอกและติดฝักน้อย ผลผลิตลดลงมากกว่า 50% หรือ เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้เลย
- ผลผลิตจากแปลงที่เป็นโคร เก็บเกี่ยวแล้วให้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปเพื่อการบริโภคเท่านั้น ไม่ควรนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อ
- กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างดำเนินการจำแนกชนิดไวรัสใบด่างถั่วเขียวที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อจะได้ออกมาตรการในการป้องกันกำจัดโรคที่เหมาะสมต่อไป
- ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการสำรวจโรคให้กระจายทั่วพื้นที่ปลูกถั่วเขียวในแต่ละอำเภอ
- เกษตรกรเฝ้าระวังและหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบลักษณะคล้ายเป็นโรคใบด่าง สามารถแจ้งได้ที่หน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร หรือ สายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างถั่วเขียว โทรศัพท์ 06 1415 2517
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ที่ปลูกถั่วเขียวให้เฝ้าระวังการระบาดของโรคใบด่างถั่วเขียว
เนื่องจากขณะนี้พบการระบาดในพื้นที่ปลูกถั่วเขียวที่สำคัญของประเทศแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี พิจิตร และสุโขทัย รวมพื้นที่การระบาดทั้งหมดจำนวนกว่า 180,000 ไร่ โดยถั่วเขียวที่พบเป็นโรคใบด่างใบจะมีลักษณะด่างเหลือง การออกดอกและติดฝักน้อย หากเป็นโรคนี้แล้วจะทำให้ผลผลิตถั่วเขียวลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์หรือทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลย
สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ พื้นที่พบการระบาดของโรคซึ่งเกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว และในส่วนที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงกลางเดือนและปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ขอย้ำว่าให้นำผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้วไปใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปเพื่อการบริโภคเท่านั้น ไม่ควรนำเมล็ดจากแปลงที่เป็นโรคไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อในครั้งต่อไปอีก และไม่ควรปลูกซ้ำในพื้นที่เดิมที่มีการระบาดของโรค เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรค
สำหรับผู้ประกอบการที่รับซื้อผลผลิตจากแปลงของเกษตรกรที่พบการระบาดของโรคก็เช่นกันไม่ควรนำเมล็ดมาจำหน่ายเพื่อขายเป็นเมล็ดพันธุ์อีกต่อไป
ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างดำเนินการจำแนกชนิดไวรัสใบด่างถั่วเขียวที่ห้องปฏิบัติการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชเพื่อให้ทราบชื่อและชนิด เพื่อยืนยันลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อทั้งทางด้านชีววิทยา การถ่ายทอดโรค สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ผลกระทบ เพื่อจะได้ออกมาตรการในการป้องกันกำจัดโรคที่เหมาะสมต่อไป
รวมทั้งยังได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการสำรวจโรคใบด่างถั่วเขียวโดยแบ่งพื้นที่สำรวจเป็น 2 ระยะ คือ ระยะต้นกล้า และระยะออกดอกติดฝัก โดยวางแผนการตรวจให้กระจายทั่วพื้นที่ปลูกถั่วเขียวในแต่ละอำเภอ
กรมวิชาการเกษตรกำลังวางแผนหามาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างถั่วเขียวทั้งการตรวจสอบศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสใบด่างในเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวก่อนนำไปปลูก เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร และดำเนินการเฝ้าระวัง
สร้างการรับรู้ถึงวิธีการป้องกันโรคใบด่างถั่วเขียวให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตถั่วเขียว เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้นำชุมชนภายในจังหวัดที่พบการระบาดของโรคใบด่างถั่วเขียว ให้ตื่นตัวและร่วมกันปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ขอแจ้งเตือนและเน้นย้ำให้เกษตรกรเฝ้าระวังและหมั่นสำรวจแปลงปลูกถั่วเขียวอย่างสม่ำเสมอ สำหรับแปลงที่พบโรคยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนการไถกลบได้ แต่ต้องไม่เก็บเมล็ดจากแปลงที่เป็นโรคไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ ควรปลูกพืชหมุนเวียน ใช้เมล็ดพันธุ์สะอาด และทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกครั้ง
หากพบต้นถั่วเขียวมีลักษณะคล้ายเป็นโรคใบด่างสามารถแจ้งได้ที่หน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ศูนย์วิจัยพืชไร่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช ที่อยู่ใกล้บ้านของท่าน หรือ สายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างถั่วเขียว โทรศัพท์ 06 1415 2517
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ doa.go.th