เตือนเกษตรกร ระวัง ด้วงหมัดผัก
เตือนเกษตรกร ระวัง ด้วงหมัดผัก
ระวัง ด้วง หมัดผัก ในพืชตระกูลกะหล่ำ (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว กะหล่ำดอก บรอกโคลี ฯลฯ)
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อน มีฝนตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำ (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว กะหล่ำดอก บรอกโคลี ฯลฯ) ในระยะ ทุกระยะการเจริญ รับมือด้วงหมัดผักตัวอ่อนด้วง หมัดผักกัดกิน หรือชอนไชเข้าไปกินอยู่บริเวณโคนต้น หรือรากของผัก ทำให้พืชผักเหี่ยวเฉา และไม่เจริญเติบโต ถ้ารากถูกทำลายมากๆ ก็อาจจะทำให้พืชผักตายได้ ตัวเต็มวัยชอบกัดผิวด้านล่างของใบทำให้ใบเป็นรูพรุน และอาจกัดกินผิวลำต้น และกลีบดอกด้วย ด้วง หมัดผักชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ตัวเต็มวัยเมื่อถูกกระทบกระเทือนจะกระโดด และสามารถบินได้ไกล
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. วิธีเขตกรรม การลดการระบาดของด้วง หมัดผัก สามารถทำได้โดยการไถตากดินไว้เป็นเวลานานพอสมควร เพื่อทำลายตัวอ่อน และดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน นอกจากนี้ควรเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ด้วง หมัดผักไม่ชอบจะเป็นการช่วยลดการระบาดได้อีกทางหนึ่ง
2. การใช้ไส้เดือนฝอยสไตเนอร์นีมา คาร์โปแคปซี (Steinernema carpocapsae) อัตรา 50 ล้านตัวต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น หรือราดลงดินก่อนปลูกหลังการให้น้ำ และพ่นทุก 7 วัน เพื่อฆ่าตัวอ่อนด้วงหมัดผักในดิน
3. การใช้สารฆ่าแมลง เช่น คาร์บาริล 85% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ยังคงใช้ได้ผลดีในแหล่งปลูกผักใหม่ๆ ที่มีการระบาดไม่รุนแรง ส่วนในแหล่งที่ปลูกผักเป็นประจำ ควรใช้สารฆ่าแมลง เช่น โทลเฟนไพแรด 16% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซีทามิพริด 20% SP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาด และควรพ่นสารสลับกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์เพื่อชะลอการสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง
ขอบคุณที่มา : facebook เพจ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร