สารพันความรู้

“น้ำ คือ ชีวิต” รวมศาสตร์ของพระราชาเพื่อการบริหารจัดการน้ำ

“น้ำ คือ ชีวิต” รวมศาสตร์ของพระราชาเพื่อการบริหารจัดการน้ำ

"น้ำ คือ ชีวิต" รวมศาสตร์ของพระราชาเพื่อการบริหารจัดการน้ำ
“น้ำ คือ ชีวิต” รวมศาสตร์ของพระราชาเพื่อการบริหารจัดการน้ำ

ด้วยสายพระเนตรและพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ทรงพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในระยะสั้นแบบเฉพาะหน้า และในระยะยาวอย่างยั่งยืน สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1) การบริหารจัดการน้ำแล้ง อาทิ การสร้างอ่างกักเก็บน้ำ การสร้างฝายทดน้ำ และการขุดลอกหนองบึงที่ตื้นเขินให้สามารถระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงเพื่อกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกได้ต่อไป

2) การบริหารจัดการน้ำท่วม อาทิ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก

3) การปรับปรุงลำน้ำที่มีอยู่เดิมให้สามารถเพิ่มศักยภาพการผันน้ำมากขึ้น อาทิ โครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการแก้มลิง เพื่อสำหรับพักมวลน้ำในฤดูน้ำหลากก่อนระบายลงสู่ทะเล เป็นต้น

4) การจัดการน้ำเสียด้วยวิธีการทางชีวภาพ ด้วยการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย และการนำผักตบชวามาเป็นส่วนช่วยในการบำบัดน้ำเสีย ในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการปรับปรุงบึงมักกะสัน และการใช้หลักกลศาสตร์ด้วยการใช้เครื่องจักรกลเติมออกซิเจนให้กับน้ำเสียเพื่อช่วยบำบัดน้ำเสียได้ดียิ่งขึ้น

5) การจัดการน้ำเค็มและน้ำกร่อย ด้วยการสร้างประตูบังคับน้ำปิดกั้นปากแม่น้ำ เพื่อป้องกันมิให้น้ำเค็มไหลเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูกและสามารถกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนรา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช

6) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการสร้างกระบวนการบริหารจัดการน้ำที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยความเหมาะสมตามลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่าง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวิถีของชุมชนในทุกมิติอย่างยั่งยืน

โดยเทคนิคในการบริหารจัดการน้ำต่าง ๆ ที่ได้ทรงพระราชทานไว้ ได้แก่

• โครงการ “ฝนหลวง” เป็นศาสตร์ของพระราชาที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องการขาดแคลนน้ำ ให้กับเกษตรกรได้จนถึงทุกวันนี้

• ป่าไม้และการปลูกป่าชนิดต่าง ๆ

– ปลูกป่าในที่สูง –
ทรงให้ใช้ไม้ประเภทที่มีเมล็ด ขึ้นไปปลูกบนยอดเขาสูง เมื่อโตแล้ว ออกฝัก ออกเมล็ด ก็จะลอยตกลงมาแล้วงอกขึ้นเองในที่ต่ำ เป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ เป็นการปลูกป่าที่อาศัยหลักธรรมชาติและแรงโน้มถ่วงของโลก คือ สิ่งที่อยู่พื้นที่สูงย่อมตกลงสู่ที่ต่ำกว่าเสมอ ทำให้ประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายในการปลูกป่า

– ป่าเปียก หรือ ภูเขาป่า –
เป็นการใช้น้ำเพื่อทำระบบและสร้างแนวป้องกันไฟป่าแบบเปียก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ และ ทรงประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ป่าเปียก จึงเป็นกลวิธีอย่างง่าย ได้ประโยชน์สูง และสามารถทำได้หลายรูปแบบด้วยกัน

– ป่าต้นน้ำ –
คือ ป่าธรรมชาติที่ปรากฎอยู่บริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยทั่วไปมักอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตรขึ้นไป หรืออาจเป็นพื้นที่ลาดชันมากกว่า 35% ชนิดของป่าไม้ที่มักจะปรากฎให้เห็นในพื้นที่ต้นน้ำ ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง

– ป่ารักษ์น้ำ –
เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อป้องกัน อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่า อาจใช้วิธีการเฝ้าระวัง และควบคุมพื้นที่ป่าไม้ที่มีอยู่ ไม่ให้ถูกทำลาย ช่วยปรับปรุงระบบนิเวศในพื้นที่ต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและถูกทำลายไปแล้ว สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในเมืองก็ได้

• ฝายชะลอน้ำต่าง ๆ

ฝายต้นน้ำลำธาร – หรือ Check Dam เป็น สิ่งก่อสร้างขวาง หรือกั้นทางน้ำ บริเวณลำห้วยและลำธารขนาดเล็ก ในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ หากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้มากวิธีการหนึ่ง

• อ่างเก็บน้ำและเขื่อนเป็นแหล่งน้ำผิวดินประเภทหนึ่งที่ทรงพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ รับไปดำเนินงานและเป็นผลดีแก่ราษฎรในท้องถิ่นที่เคยขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ได้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเป็นจำนวนมากกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภาค

• โครงการแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย พร้อมทั้งช่วยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยจะดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน เพื่อให้น้ำไหลลงคลองพักน้ำที่ชายทะเล จากนั้นเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงจนต่ำกว่าน้ำในคลอง น้ำในคลองจะไหลลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ ต่อจากนั้นจะเริ่มสูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิง เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อย ๆ ไหลมาเอง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง จนในที่สุดเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับในคลอง จึงปิดประตูระบายน้ำ โดยให้น้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)

• คลองช่วยระบายน้ำ คันกั้นน้ำ ทางน้ำผ่าน (Flood way) ป้องกันการเกิดน้ำท่วม

• ป่าชายเลน เรียกชื่อกันหลายอย่างว่า ป่าชายเลนน้ำเค็ม หรือป่าเลน หรือป่าโกงกาง เป็นป่าที่เกิดขึ้นตามชายฝั่งทะเล และปากแม่น้ำ ของประเทศไทย ป่าชายเลนจัดเป็นป่าไม้ผลัดใบ มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น แต่ละชนิดมีรากค้ำยัน หรือรากหายใจ ตามแต่ชนิดของต้นไม้นั้น ๆ

• หญ้าแฝก เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาดินเช่นดินพังทลายดินถล่มดินเสื่อมโทรมดินดานและดินทรายได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ทรงให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของพื้นที่ลาดเขาเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตของลำต้นและรากบันทึกความสมบูรณ์ของดินก่อนและหลังปลูกศึกษาหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามงานและมีพระราชดำรัสแนะนำเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการใช้หญ้าแฝกอย่างต่อเนื่อง

• การใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสียหรือที่เรียกกันว่า “น้ำดีไล่น้ำเสีย” นั้น ได้แก่ การใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยผลักดันน้ำเน่าเสียออกไปและช่วยให้น้ำเน่าเสียมีสภาพเจือจางลง ทั้งนี้โดยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจากแหล่งน้ำภายนอกส่งไปตามคลองต่าง ๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ หรือคลองบางลำภู ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งกระแสน้ำจะไหลแผ่กระจายขยายไปตามคลองซอยที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่ง ดังนั้นเมื่อการกำหนดดวงรอบเกี่ยวกับการไหลของน้ำไปตามคลองต่าง ๆ นับแต่ปากคลองที่น้ำไหลเข้ามาจนถึงปลายคลองที่น้ำไหลออกได้อย่างเหมาะสม โดยที่น้ำสามารถไหลเวียนไปตามลำคลองได้ตลอดแล้ว ย่อมสามารถเจือจางน้ำเน่าเสียและชักพาสิ่งโสโครก ซึ่งจะเป็นวิธีการช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสียในคลองต่าง ๆ ตอนช่วงฤดูแล้งได้อย่างดี

• หลักการบำบัดน้ำเสียโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา (Filtration) ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “บึงมักกะสัน” กล่าวคือ ให้มีการทดลองใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้วนี้ มา ทำหน้าที่ดูดซับความโสโครก รวมทั้งสารพิษจากน้ำเน่าเสีย โดยทรงเน้นให้ทำ การปรับปรุง อย่างประหยัด และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมบึง

• กังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ในพระปรมาภิไธย เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำแก่ปวงชนชาวไทย

• เกษตรทฤษฎีใหม่ แนวพระราชดำริการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ทำกิน เพื่อการอยู่รอดและพึ่งตนเอง เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบาก ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติ โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้ โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก

เหล่านี้ ล้วนเป็นมรดก เป็นองค์ความรู้อันล้ำค่าที่คนไทยจะร่วมสืบสานพระราชปณิธานไปอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยสืบไป

ขอบคุณที่มา : มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button