เคล็ดลับ “แปลงผักประหยัดน้ำ”
เคล็ดลับ “แปลงผักประหยัดน้ำ”
ท่ามกลางแสงแดดรุนแรงของฤดูร้อนในเมืองไทย สิ่งหนึ่งที่ต้องเผชิญคือพืชผักสวนครัวที่ปลูกในสวนหลังบ้านย่อมต้องการน้ำมากขึ้น ซึ่งต้องรดน้ำให้ชุ่มทั้งเช้าและเย็น เนื่องด้วยการเก็บความชุ่มชื้นของดินลดลง ปริมาณน้ำระเหยได้เร็วตามสภาวะอากาศที่ร้อนระอุ การรดน้ำผักสวนครัวหรือสวนหลังบ้านจึงต้องทำอย่างสม่ำเสมอและหาวิธีกักเก็บความชุ่มชื้นในดิน อย่างเช่นการคลุมหน้าดินด้วยฟาง พรางแสงด้วยซาแลน เป็นต้น
แต่มีอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้รดน้ำผัก ช่วยประหยัดน้ำ ประหยัดเวลา และเป็นตัวช่วยเมื่อยามที่ไม่ได้รดน้ำแปลงผัก นั่นคือการทำ แปลงผัก วิคกิ้ง (Wicking Beds) ซึ่งเป็นรูปแบบแปลงผักที่มีหลักการทำงานคล้ายๆ กับแปลงผักคีย์โฮล แตกต่างตรงที่แปลงผักวิคกิ้งไม่ได้เป็นแปลงปุ๋ยหมักแต่เป็นแปลงผักที่กักเก็บน้ำไว้ในชั้นใต้ดิน แล้วค่อยๆ ให้น้ำระเหยขึ้นสู่ชั้นดินปลูกเพื่อให้รากผักให้ดูดซึมไปใช้ ซึ่งการรดน้ำแบบนี้จะทำให้รากพืชได้รับน้ำได้ดีกว่าการรดน้ำผ่านหน้าดินชั้นบน
แปลงผักวิคกิ้ง นอกจากจะช่วยร่นระยะเวลาในการรดน้ำ ประหยัดน้ำในช่วงหน้าร้อนแล้ว การปลูกผักในแปลงปลูกที่เป็นวิธีในการควบคุมคุณภาพของดินได้ง่าย โดยธาตุอาหารที่อยู่ในดินจะไม่ถูกชะล้างง่ายเช่นเดียวกับความชื้นในดิน สามารถเปลี่ยนดินปลูกเมื่อดินเสื่อมสภาพได้สะดวก ทั้งยังเป็นรูปแบบแปลงผักที่เหมาะกับสวนผักในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด มีปัญหาในเรื่องของพื้นที่ปลูกผัก เพราะการทำแปลงผักวิคกิ้งสามารถกำหนดขนาดให้พอดีกับพื้นที่ที่มี ทั้งยังออกแบบให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วย
แปลงผักวิคกิ้งทำงานอย่างไร
การทำงานของ แปลงผัก วิคกิ้ง เสมือนการทำอ่างเก็บน้ำใต้ดินที่มีชั้นหินเป็นแหล่งกักเก็บ ดินชั้นล่างสุดจะค่อยๆ ดูดซับความชื้นสู่ดินชั้นบนจึงมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผักที่ปลูกได้รับน้ำทางรากอย่างทั่วถึง รวดเร็ว ช่วยลดเวลาในการรดน้ำและช่วยประหยัดน้ำไปในตัว
วัสดุทำแปลงผักวิคกิ้ง
-ภาชนะทำแปลง ถังพลาสติกสำเร็จรูปหรือจะทำแปลงปลูกขนาดใหญ่ก็ได้
– ท่อ PVC ต่อเป็นรูปตัวแอล L เจาะรูตามแนวนอนตลอดแนว
– แผ่น Geotextile
– แผ่นพลาสติก Food Grade
– ก้อนหิน เบอร์2 หรือมีขนาดใหญ่กว่า
– ดินสำหรับปลูกผัก
– ต้นกล้าผัก
ขั้นตอนการทำ
1 | วางท่อ PVC ที่ต่อเป็นรูปตัวแอล L ในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับทำแปลงปลูก วางให้ชิดมุมใดมุมหนึ่ง โดยให้ท่อเจาะรูยาวตามแนวแปลงปลูก (ใช้ก้อนอิฐขนาดใหญ่วางทับป้องกันตำแหน่งเคลื่อนที่ได้) จากนั้นเจาะภาชนะปลูกในฝั่งตรงข้ามระดับความสูง 1 ใน 3 เพื่อใส่ท่อระบายน้ำออก หากแปลงปลูกเป็น อิฐ หิน ไม้ ที่ไม่กักเก็บน้ำ ให้ใช้แผ่นพลาสติก food grade รองรอบๆ ก่อนวางท่อ PVC
2 | เทก้อนกรวด เบอร์2 ให้กลบแนวท่อ PVC เกลี่ยให้ทั่วแปลงปลูก ปริมาณที่ใส่ให้สูงปิดรูระบายน้ำออก
3 | จากนั้นปูแผ่น Geotextile เพื่อป้องกันชั้นดินไม่ให้ไหลลงไปผสมกับชั้นหินด้านล่าง
4 | ใส่ดินปลูกแปลง โดยให้คำนึงปริมาณความสูงของชั้นดินควรสูงอย่างน้อย 30 เซนติเมตร โดยเฉพาะหากปลูกพืชกินหัวอย่างแครอท หัวไชเท้า ชั้นดินควรสูงมากกว่า 30 เซนติเมตร ดินปลูกผักควรเป็นดินที่ผสมกับปุ๋ยคอกและอินทรีย์วัตถุที่มีธาตุอาหารที่ผักต้องการ
5 | จากนั้นลงมือปลูกกล้าผักลงดิน แล้วรดน้ำหน้าดินให้ชุ่ม พร้อมกับรดน้ำลงท่อ PVC เพื่อกักเก็บน้ำในชั้นดิน ให้รดจนมีน้ำล้นระบายออกฝั่งท่อเล็กเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำขังในชั้นใต้ดินเกินความจำเป็น
หลากหลายวัสดุ ประยุกต์ใช้
นอกจากแปลงผักที่ทำมาจากไม้ อิฐ หิน การใช้วัสดุเหลือใช้อย่างถังพลาสติก กะละมังเก่า หรือกล่องพลาสติกเก็บของ ที่กักเก็บน้ำได้มาประยุกต์ทำแปลงผักวิคกิ้งได้เช่นกัน โดยสิ่งที่ต้องคำนึงคือระดับความสูงของแปลงผัก เพื่อให้อัตราส่วนของชั้นหินเก็บน้ำกับชั้นดินปลูกผักพอเหมาะไม่กักเก็บความชื้นมาเกินไป
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ baanlaesuan.com