“หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด” ศัตรูพืชสำคัญของข้าวโพดที่เกษตรกรต้องควรระวัง
“หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด” ศัตรูพืชสำคัญของข้าวโพดที่เกษตรกรต้องควรระวัง
“หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด”
หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด
ชื่อสามัญ : fall armyworm (FAW)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spodoptera frugiperda (J.E. Smith, 1797)
หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เป็นศัตรูพืชสำคัญของข้าวโพดพบระบาดในพื้นที่เขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของทวีปอเมริกา มีรายงานการระบาดครั้งแรกในภาคกลางและภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกาในช่วงต้นปี 2559 จากนั้นได้แพร่กระจายออกไปและเกิดการระบาดในหลายประเทศเกือบทั่วทวีปแอฟริกาในทวีปเอเชียมีรายงานพบการระบาดครั้งแรกในปี 2561 ทำลายข้าวโพด ในพื้นที่รัฐ Chikkaballapur, Karnataka ของประเทศอินเดีย
หนึ่งรอบวงจรชีวิตหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (fall armyworm) ใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว เพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่ม ทั้งบนใบและใต้ใบพืช แต่ละกลุ่มจะมีไข่ประมาณ 100-200 ฟอง และมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม เพศเมียหนึ่งตัวจะวางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วันหนอนมี 6 วัย ระยะหนอน 14-22 วัน หนอนโตเต็มที่มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.2-4.0 ซม. หนอนจะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัยและมีชีวิตอยู่ได้ 10-21 วัน ตัวเต็มวัยสามารถบินได้เฉลี่ย 100 กิโลเมตรต่อคืน
ลักษณะการทำลาย
การทำลายเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น หนอนจะระบาดทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งแผ่นใบ และจะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบข้าวโพด ความเสียหายที่เห็นได้ชัดคือ ในระยะต้นอ่อนทำให้พืชตาย ระยะต้นแก่พืชจะไม่เจริญเติบโตฝักลีบเล็กไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 73% ของพื้นที่
การป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดโดยวิธีผสมผสาน
การเตรียมดิน ไถพรวนและตากดินเพื่อกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดิน
ระยะก่อนปลูก คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ด้วยสารไซแอนทรานิลิโพรล 20% เอสซี (IRAC กลุ่ม 28) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม โดยใส่สารลงไปในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิท รีดกระจายสารให้ทั่วถุงจากนั้นเปิดปากถุงใส่เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลงไป ทำถุงพองลม แล้วมัดปากถุงให้แน่นเขย่าเมล็ดพันธุ์คลุกกับสารจนทั่วเปิดปากถุงผึ่งเมล็ดให้แห้งในที่ร่มแล้วจึงนำไปปลูก
ระยะหลังปลูก หมั่นสำรวจแปลงปลูกตั้งแต่เริ่มงอก หากพบกลุ่มไข่และตัวหนอนทำการเก็บทำลายปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนไตรโครแกรมม่า แมลงหางหนีบ เป็นต้น
ใช้สารชีวภัณฑ์ พ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส สายพันธุ์ไอซาไว หรือเคอร์สตากี้ อัตรา 80 กรัมหรือมิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (IRAC กลุ่ม 11A) พ่นทุก 4-7 วัน ควรพ่นในตอนเย็น
หากพบการระบาดรุนแรงใช้สารป้องกันกำจัดแมลงตามคำแนะนำ ดังนี้
สารในกลุ่ม 6 สารอีมาเมกตินเบนโซเอต (emamectin benzoate) 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเมกตินเบนโซเอต (emamectin benzoate) 5% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
สารในกลุ่ม 5 สารสไปนีโทแรม (spinetoram) 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสไปนีโทแรม (spinetoram) 25% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
สารในกลุ่ม 13 สารคลอร์ฟีนาเพอร์ (chlorfenapyr) 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
สารในกลุ่ม 22 สารอินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) 15% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
สารในกลุ่ม 18+5 สารเมทอกซีฟิโนไซด์ + สไปนีโทแรม (methoxyfenozide + spinetoram) 30+6% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
สารในกลุ่ม 28 สารคลอแรนทรานิลิโพรล (chlorantraniliprole) 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟลูเบนไดอะไมด์ (flubendiamide) 20% WGอัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
ในกรณีใช้สารคลุกเมล็ด การพ่นสารต้องเลือกสารที่ไม่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับสารคลุกเมล็ด (IRAC กลุ่ม 28)
การพ่นสาร ควรพ่นสารทุก 7 วัน หรือเว้นระยะห่างตามการระบาดของแมลง และต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน (1 วงรอบชีวิต) เพื่อลดความต้านทานสารป้องกันกำจัดแมลง
ขณะพ่นสารพ่นให้ละอองสารลงสู่กรวยยอดมากที่สุด โดยใช้อัตราพ่นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของข้าวโพด
ขณะพ่นสารผู้พ่นสารควรอยู่เหนือลมเสมอ ผู้พ่นสารควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากสารป้องกันกำจัดแมลง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่
สายด่วนเฝ้าระวังหนอนกระทู้ fall armyworm
โทร. 06 1415 2517
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ doa.go.th