ข่าวเกษตรสารพันความรู้

เตือนเกษตรกร !! ระวังโรคหอมเลื้อยในหอมแดงและหอมหัวใหญ่

เตือนเกษตรกร !! ระวังโรคหอมเลื้อยในหอมแดงและหอมหัวใหญ่

เตือนเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงและหอมหัวใหญ่

ระวังโรคหอมเลื้อย

เตือนเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงและหอมหัวใหญ่ให้เฝ้าระวังโรคหอมเลื้อย ที่สามารถพบได้ในระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น มักพบแสดงอาการของโรคบนใบ กาบใบ หรือส่วนหัว โดยเริ่มแรกพบจุดเล็กสีเขียวหม่นฉ่ำน้ำ ต่อมาแผลขยายใหญ่เป็นแผลรูปกลมหรือรี เนื้อแผลยุบลงเล็กน้อย บนแผลมีหยดของเหลวสีชมพูอมส้ม เมื่อแผลแห้งจะเห็นเป็นตุ่มเล็กสีน้ำตาลดำ เรียงเป็นวงรีซ้อนกันหลายชั้น ถ้าแผลขยายใหญ่หรือหลายแผลมาชนกัน จะทำให้ต้นหักพับ แห้งตาย หรือเน่าตายทั้งต้น ทำให้ผลผลิตลดลง หากแสดงอาการของโรคในระยะที่ต้นหอมยังไม่ลงหัว จะพบแสดงอาการต้นแคระแกร็น ใบบิดเป็นเกลียว ไม่ลงหัว ถ้าเป็นโรคในระยะที่ต้นหอมเริ่มลงหัว จะทำให้หัวลีบยาว บิดโค้งงอ ส่วนกาบใบที่อยู่บริเวณเหนือหัวหอม (คอหอม) มักยืดยาว มีระบบรากสั้นกว่าปกติ ทำให้ไม่ได้ผลผลิต
ให้เกษตรกรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมเชื้อสาเหตุโรค ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ให้ถอนต้นที่พบเชื้อรานำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที จากนั้น ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชโพรคลอราช 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่ง กรณีโรคยังคงระบาด ให้พ่นซ้ำทุก 5 วัน แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง และควรพ่นสลับกับสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อสาเหตุโรค
ทั้งนี้ ก่อนการปลูกหอมแดง เกษตรกรควรไถพรวนพลิกดินขึ้นมาตากแดด 2-3 แดด โดยไถให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจตกค้างในดิน และช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก จากนั้นให้ใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับสภาพดิน และเลือกใช้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค โดยแช่หัวพันธุ์ก่อนปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 10-20 กรัม ต่อหอมแดง 1 กิโลกรัม หรือสารป้องกันกำจัดโรคพืชโพรคลอราช 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 15-20 นาที อีกทั้งในแปลงที่เคยมีการระบาดของโรครุนแรง เกษตรกรควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชสกุลหอมและกระเทียมสลับหมุนเวียนอย่างน้อย 2 ปี
เตือนเกษตรกร !! ระวังโรคหอมเลื้อยในหอมแดงและหอมหัวใหญ่
โรคหอมเลื้อย

ขอบคุณที่มา : facebook เพจ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button