เตือน!! ชาวสวนมะพร้าว เตรียมรับมือไรสีขามะพร้าวศัตรูตัวร้ายของมะพร้าว
เตือน!! ชาวสวนมะพร้าว เตรียมรับมือไรสีขามะพร้าวศัตรูตัวร้ายของมะพร้าว
ไรสี่ขามะพร้าว (Coconut Mite) เป็นไรศัตรูที่สำคัญของมะพร้าว สร้างความเสียหายต่อคุณภาพและผลผลิต ไรสี่ขามะพร้าวอาศัยอยู่ใต้กลีบเลี้ยงของผลมะพร้าว ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องมองผ่านกล้องที่มีกำลังขยายสูงเท่านั้น รูปร่างลักษณะของไรสี่ขามะพร้าวคล้ายหนอนสีขาวใสโดยจะเริ่มเข้าทำลายผลมะพร้าวตั้งแต่ผลมีขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 3 – 25 เซนติเมตร เมื่อไรสี่ขามะพร้าวเข้าทำลายผลมะพร้าวจะชะงักการเจริญเติบโต หลุดร่วงและผลผลิตเสียหายได้ถึง 70%
ลักษณะอาการทำลายของไรสี่ขามะพร้าว
1.แผลจะเป็นร่องลึก
2.แผลแตกเป็นริ้วเหมือนลายไม้สีน้ำตาล
3.ปลายแผลแหลม
4.เป็นแผลโดยรอบ หรือเกือบรอบผลมะพร้าว
วงจรชีวิตไรสี่ขามะพร้าว
ระยะไข่ -ไข่ไรสี่ขามะพร้าว รูปร่างเป็นทรงกลมขนาดเล็ก สีขาวใส มีอายุประมาณ 3 วัน
ตัวอ่อนวัยที่ 1 -รูปร่างคล้ายหนอนขนาดเล็ก ตัวสีขาวใส มีอายุประมาณ 2 วัน
ตัวอ่อนวัยที่ 2 -มีขนาดใหญ่ขึ้น จะลอกคราบจนเป็นตัวเต็มวัย มีอายุประมาณ 2 วัน
ตัวเต็มวัย -มีลำตัวคล้ายหนอน ความยาวประมาณ 200-250 ไมครอน กว้างประมาณ 35-50 ไมครอน มีขา 2 คู่ อยู่ส่วนหน้าของลำตัว ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเป็นศัตรูพืช เพศเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 30-50 ฟอง จากระยะไข่-ตัวเต็มวัย ใช้ระยะเวลาประมาณ 7-8 วัน
การจัดการและการป้องกันกำจัด
ไรสี่ขามะพร้าว เข้าทำลายอยู่ภายในขั้วผลมะพร้าว ทำให้การพ่นสารฆ่าไรไม่สามารถโดนตัวไรได้โดยตรง ดังนั้นการป้องกันกำจัดให้เน้นพ่นสารฆ่าไรในช่วงระยะมะพร้าวติดจั่นจนถึงระยะผลขนาดเล็กห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะที่ไรสี่ขาเริ่มเข้าทำลาย
สารฆ่าไรสี่ขามะพร้าว ตามคำแนะนำ ได้แก่
-โพรพาร์ไกต์ 30% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (สารกลุ่ม 12)
-อะมิทราซ 20% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (สารกลุ่ม 19)
-กำมะถันผง 80% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (สารกลุ่ม UN) ***ห้ามผสมกับสารชนิดอื่น
-ไพริดาเบน 20% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (สารกลุ่ม 21) (ให้สลับกลุ่มสารฆ่าไรตามลักษณะกลไกลการออกฤทธิ์ โดย IRAC)
สวนที่พบการเข้าทำลายรุนแรงและล้งรับซื้อผลมะพร้าวให้ดำเนินการกำจัดไรสี่ขามะพร้าว ดังนี้
ตัดช่อดอก ช่อผล ผลที่พบอาการถูกทำลายจากไรสี่ขามะพร้าว และเศษซากจากการปอกมะพร้าวก่อนจำหน่าย นำมากองรวมกัน หลังจากนั้นพ่นด้วยสารฆ่าไรตามคำแนะนำ และคลุมด้วยผ้าพลาสติก อย่างน้อย 10 วัน
ขอบคุณที่มา : facebook เพจ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร