ทำไมข้าวโพดถึงฟันหลอ ปัญหานี้เกิดจากปัจจัยอะไรได้บ้างมาลองดูกัน
ทำไมข้าวโพดถึงฟันหลอ ปัญหานี้เกิดจากปัจจัยอะไรได้บ้างมาลองดูกัน
ปัญหาฮอตฮิตของข้าวโพดในบ้านเราขณะนี้ นอกจากหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่กำลังมาแรงมากในขณะนี้ก็คือ “ข้าวโพดฟันหลอ” หรือติดเมล็ดไม่เต็มฝักนั่นเอง ปัญหานี้เกิดจากพันธุกรรมจริงหรือไม่ หรือจริงๆแล้วเกิดจากปัจจัยอะไรได้บ้างเรามาลองดูกัน
ปัญหาข้าวโพดฟันหลอ โดยทั่วไปแล้วสาเหตุเกิดจาก การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้การติดเมล็ดของข้าวโพดผิดปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การผสมเกสรไม่สมบูรณ์นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกสรตัวเมียกับเกสรตัวผู้ (ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย) ไม่สมบูรณ์แล้วผสมกัน หรืออาจเกิดจากสภาพอากาศไม่เหมาะสมอาจร้อนหรือแห้งแล้งจนเกินไปทำให้ไหมแห้ง หรือเกสรตัวผู้มีอายุสั้นลง การได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ ขาดน้ำหรืออีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามนั่นก็คือ ปัญหาที่เกิดจากแมลงศัตรูที่ลงทำลายในระยะข้าวโพดออกดอกออกไหม นั่นเอง โดยแมลงศัตรูที่พบในช่วงที่ข้าวโพดออกดอก, ลงทำลายเกสร/ไหมหรือส่วนปลายฝักข้าวโพด ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ หนอนเจาะฝักข้าวโพด, หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด, เพลี้ยอ่อน และเพลี้ยไฟข้าวโพด สำหรับเรื่องหนอนนั้นเราพูดและนำเสนอข้อมูลกันมาบ่อยแล้ว ในวันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องเพลี้ยไฟข้าวโพดกัน
เพลี้ยไฟในข้าวโพด เป็นแมลงปากเขี่ยดูดขนาดลำตัวเล็ก 1-3 มิลลิเมตร มักพบระบาดมากในช่วงฝนทิ้งช่วง หรือช่วงที่สภาพอากาศร้อนแห้งแล้ง ซึ่งในข้าวโพดสามารถพบเพลี้ยไฟได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยไฟข้าวโพด (Frankliniella williamsi), เพลี้ยไฟดอกไม้ฮาวาย (Thrips hawaiiensis), เพลี้ยไฟถั่ว (Caliothrips sp.) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในข้าวโพดจะพบการระบาดของเพลี้ยไฟใน 2 ระยะ ได้แก่ ระยะข้าวโพดต้นเล็ก และระยะข้าวโพดออกดอก โดยจะมีลักษณะความเสียหายที่แตกต่างกัน ดังนี้
ระยะข้าวโพดต้นเล็ก เพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบเป็นรอยขีดสีขาวหรือด่างเหลืองซีด
ระยะข้าวโพดออกดอก เพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ไหมข้าวโพด ซึ่งหากเพลี้ยไฟลงทำลายไหมก่อนการผสมเกสร จะทำให้ไหมแห้ง ผสมเกสรไม่ได้ ติดเมล็ดไม่เต็ม หรือฟันหลอนั่นเอง
การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟข้าวโพด สามารถทำได้โดย
ก่อนปลูกคลุกเมล็ดด้วยสารคลุกเมล็ดดังนี้
– สารไทอะมีทอกแซม 35% FS อัตรา 5 มล./เมล็ด 1 กก.
– สารอิมิดาโคลพริด 60% FS อัตรา 10 มล./เมล็ด 1 กก.
– สารอิมิดาโคลพริด 70% WS อัตรา 5 กรัม/เมล็ด 1 กก.
ซึ่งการคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีก่อนปลูกจะช่วยป้องกันเพลี้ยไฟข้าวโพดได้ประมาณ 30 วัน
ข้อสำคัญในการใช้สารคลุกเมล็ด คือ ***ดินต้องมีความชื้น ไม่เช่นนั้นสารคลุกเมล็ดอาจมีประสิทธิภาพต่ำลงหรือใช้ไม่ได้ผล
หรือหากพบการระบาดรุนแรงให้เลือกพ่นด้วยสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้
– สารอิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 10กรัม/น้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4A)
– สารไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 10กรัม/น้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4A)
– สารโคลไทอะนิดิน 16%SG อัตรา 15กรัม/น้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4A)
– สารฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 15 มล./น้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 2B)
– สารคาร์บาริล 85% WP อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 1A)
***หากพบระบาดรุนแรงในช่วงติดฝักให้พ่นเน้นบริเวณส่วนปลายฝัก***
สำหรับสารอิมิดาโคลพริด, ไทอะมีทอกแซม และโคลไทอะนิดิน เป็นสารกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ จัดอยู่ในกลุ่ม 4A เป็นสารกลุ่มที่มีพิษต่อผึ้งและแมลงผสมเกสรค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการพ่น โดยอาจเลือกช่วงเวลาในการพ่นสารโดยพ่นช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็นเพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่ผึ้งและแมลงผสมเกสรออกหาอาหาร จะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายต่อผึ้งและแมลงผสมเกสรได้
ขอบคุณข้อมูลการป้องกันกำจัดจากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ขอบคุณที่มา : facebook เพจ กลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช