ข่าวสาร
พืชมงคลกับวิถีใหม่
พืชมงคลกับวิถีใหม่
เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนนั่นหมายถึงฤดูแห่งการเพาะปลูกของพี่น้องชาวไทยเริ่มขึ้นแล้ว…
แต่วิถีชาวนาไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ในอดีตนาส่วนใหญ่จะเป็นนาดำมีการตกกล้า และเตรียมแปลงให้พร้อมก่อน แล้วจึงนำกล้าที่เตรียมไว้มาปักดำโดยใช้วิธีการลงแขก ซึ่งเป็นการเอาแรงกัน พอถึงคราวบ้านเรา คนจากบ้านที่เราเคยไปช่วยก็จะมาช่วยบ้านเรา
ส่วนในปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่จะนิยมการทำนาหว่านเนื่องจากเป็นการประหยัดแรงงาน และแรงงานค่อนข้างหายาก อีกทั้งเกษตรกรไม่ได้ยึดอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว
นาหว่านแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือนาหว่านข้าวแห้ง และนาหว่านน้ำตม นาหว่านข้าวแห้ง จะหว่านเมล็ดข้าวเพื่อคอยฝน โดยแบ่งออกเป็น นาหว่านสำรวย และนาหว่านหลังขี้ไถ
นาหว่านสำรวย เป็นการหว่านเมล็ดข้าวแห้งในสภาพดินแห้ง หลังจากไถแปรครั้งสุดท้ายแล้ว หว่านเมล็ดข้าวลงไปโดยไม่ต้องคราดกลบ เมล็ดจะตกอยู่ระหว่างก้อนดิน เมื่อฝนตกลงมาจะทำให้เมล็ดงอก
นาหว่านหลังขี้ไถ เป็นการหว่านหลังจากที่มีน้ำขังในกระทงนาแล้วหลังจากไถแปรก็ทำการหว่านเมล็ดข้าวแล้วคราดกลบทันที
นาหว่านน้ำตม เป็นกานำเมล็ดข้าวที่ถูกเพาะจนมีรากงอกประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ไปหว่านในกระทงนาที่มีการเตรียมดินจนเป็นเทือก
ชาวนาไทยไม่ได้รอแค่ให้ฝนมาแล้วจึงจะลงมือทำนา แต่ชาวนาไทยจำนวนมากยังรอคอยฤกษ์ในการเริ่มทำนาโดยยึดเอาวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพราะถือเป็นวันมหามงคลมาแต่โบราณ บางคนลงทุนเดินทางมาเฝ้าชมพิธี และรอจนเสร็จพิธีที่ท้องสนามหลวงก็จะเข้าไปแย่งชิงเมล็ดข้าวเปลือกจากการทำพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่นำมาโปรยนั้นเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการปลุกเสกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อนวันทำพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 1 วัน
ครั้นเมื่อเจ้าไวรัสมฤตยู “ไวรัสโคโรน่า” หรือ “โควิด-19” อุบัติขึ้นทำให้ไม่สามารถจัดพระราขพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวงได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเจ้าเชื้อโรคร้ายนี้ แต่ยังคงมีพิธีปลุกเสกข้าวเปลือกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรเป็นสิริมงคล ในปีนี้ก็เช่นกันมีพิธีปลุกเสกเมล็ดข้าวพันธุ์พระราชทานเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรแต่ไม่มีการจัดพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง
เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการปลุกเสกนั้นเกษตรกรจะนำไปปนกับเมล็ดพันธุ์ที่ตนเองเตรียมไว้เพื่อเป็นมงคลต่อการเพาะปลูก
ความเชื่ออันเป็นมงคลที่จะทำให้ข้าวที่ทำการเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์แล้ว น้ำก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เกษตรกรจึงควรใช้ข้อมูลสภาพดินฟ้าอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบการวางแผนตัดสินใจในการเริ่มทำการเพาะปลูกเพื่อให้มีโอกาสได้มีน้ำสม่ำเสมอเพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝนควรหลีกเลี่ยงฝนทิ้งช่วงในช่วงที่พืชต้องการน้ำมากที่สุด ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ขอบคุณที่มา : facebool เพจ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร