เตือนเกษตรกร ระวัง หนอนหน้าแมว ในปาล์มน้ำมัน
เตือนเกษตรกร ระวัง หนอนหน้าแมว ในปาล์มน้ำมัน
สภาพอากาศในช่วงนี้ฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือหนอน หน้าแมว หนอน หน้าแมว จะกัดเข้าทำลายใบปาล์มน้ำมัน หนอนวัยเล็กจะกัดกินผิวใบ เมื่อหนอนโตขึ้นจะกัดกินจนใบขาด ถ้าระบาดรุนแรงใบจะถูกกัดจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ผลผลิตลดลง ต้นชะงักการเจริญเติบโต และใช้เวลานานกว่าที่ต้นจะฟื้นตัว ถ้าเกิดการระบาดในแต่ละครั้ง จะใช้เวลาในการกำจัดนาน เนื่องจากหนอนหน้าแมวมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน เช่น ระยะหนอนและระยะดักแด้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดให้หมดในเวลาเดียวกันได้
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. การใช้วิธีกล
๑.๑ ตัดใบย่อยที่มีหนอนหน้าแมว หรือจับผีเสื้อ ซึ่งเกาะนิ่งในเวลากลางวันตามใต้ทางใบปาล์มน้ำมัน หรือเก็บดักแด้ตามใบ และซอกโคนทางใบรอบต้นมาทำลาย
๑.๒ ใช้กับดักแสงไฟ โดยใช้แสงไฟ black light หรือ หลอดนีออนธรรมดา วางบนกะละมังพลาสติก ซึ่งบรรจุน้ำผสมผงซักฟอก ให้หลอดไฟอยู่เหนือน้ำประมาณ ๕-๑๐ เซนติเมตร วางล่อผีเสื้อช่วงเวลา ๑๘.๐๐-๑๙.๐๐ น. ซึ่งสามารถช่วยกำจัดการขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้
๒. การใช้ชีววิธีพ่นแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส Bacillus thuringiensis อัตรา ๓๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้สามารถทำลายกลุ่มหนอนผีเสื้อทำลายปาล์มน้ำมัน และไม่เป็นอันตรายต่อแมลงที่มีประโยชน์
๓. การใช้สารเคมีเริ่มพ่นสารฆ่าแมลงเมื่อพบหนอนหน้าแมวเข้าทำลายบริเวณผิวใบ เฉลี่ย ๒๐ ตัวต่อทางใบ สารฆ่าแมลงที่ใช้ ได้แก่ เดลทาเมทริน ๓% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อีโทเฟนพร็อกซ์ ๒๐% อีซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ฟลูเบนไดไดอะไมด์ ๒๐% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล ๕.๑๗% เอสซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ฟิโพรนิล ๕% เอสซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน ๕% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต ๑.๙๒% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือคาร์บาริล ๘๕% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๑๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน ๒.๕% อีซี อัตรา ๑๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๔. การใช้วิธีผสมผสาน
๔.๑ การใช้กับดักแสงไฟล่อผีเสื้อในช่วงที่ดักแด้กำลังออกเป็นผีเสื้อ สลับกับการใช้สารฆ่าแมลงหรือเชื้อแบคทีเรีย ในช่วงเป็นหนอนวัยเล็ก
๔.๒ การใช้เชื้อแบคทีเรียสลับกับการใช้สารฆ่าแมลง
ขอบคุณที่มา : facebook เพจ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร