เตือนชาวสวนยางอย่าดีใจ ราคายางพุ่ง เพราะจีนขาดสต๊อก
เตือนชาวสวนยางอย่าดีใจ ราคายางพุ่ง เพราะจีนขาดสต๊อก
ราคายางพุ่ง เพราะจีนขาดสต๊อก เตือนชาวสวนอย่าดีใจ
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุมใต้ร่มยาง การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง มีการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับเขตภาคใต้ ตอนกลาง ทั้ง 6 จังหวัด โดยมีนายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนกลาง เป็นประธาน โดยกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะลงพื้นที่จังหวัดตรัง ติดตามโครงการแหล่งน้ำ และพบปะกับเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่จังหวัดตรัง ในภาคบ่ายของวันนี้ (30 ต.ค.) โดยในที่ประชุมได้มีการหารือกันในกรณีราคายางปรับตัวพุ่งสูงขึ้น
นายประสิทธิ์ สืบชนะ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุผลที่ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้ว่า เป็นการปรับราคาสูงขึ้นแบบผิดปกติ โดย 3 – 4 วันนี้ เฉลี่ยวันละ 5 – 6 บาท สาเหตุเนื่องจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย กำลังขาดแคลนยางในสต็อก จึงได้สั่งการให้บริษัทคู่ค้าที่ทำสัญญาซื้อขายยางไว้ล่วงหน้า เร่งจัดหายางไปส่งมอบให้ ทำให้บริษัทต้องระดมซื้อยาง เพื่อให้เพียงพอกับการส่งมอบ จึงต้องขึ้นราคาเพื่อเรียกซื้อยางเข้าระบบ ให้เพียงพอที่จะส่งมอบ ทำให้การปรับราคาขึ้นดังกล่าวพุ่งขึ้นแบบรายวันอย่างผิดปกติ จึงอย่าดีใจกับราคายางที่พุ่งสูงขึ้น เพราะมองว่าเป็นการขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ขณะที่ทางการยางก็ไม่สามารถจะทำอย่างไรได้ แต่วิธีทำให้ราคายางขึ้นอย่างถาวรคือ การเพิ่มมูลค่าของยางโดยสถาบันควบคุมเอง
นายสังข์เวิน ทวดห้อย คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างพรวดพราด โดยเฉพาะหลังๆมานี้ปรับขึ้นวันละ 5 – 6 บาท ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 10 ปี จึงรู้สึกเป็นห่วงเพราะหากปรับขึ้นรุนแรง แล้วเกิดตกดิ่งลงมาวันละ 10 บาท จะทำกันอย่างไร ดังนั้น ขณะนี้หากสถาบันใดมียางในสต็อกจะต้องรีบขายทำกำไร อย่าเก็บเอาไว้ เพราะสถานการณ์ไม่แน่นอน โดยในส่วนของน้ำยางข้น เพื่อไว้สำหรับการผลิตถุงมือยางพบว่า ขณะนี้ออเดอร์ยาวไปถึง 5 ปี แต่น้ำยางสด และยางแผ่นรมควัน ราคาไม่แน่นอน นอกจากนั้น ปัญหาที่พบอีกส่วนคือ ชาวสวนยางภาคใต้ตอนล่าง ขณะนี้ก็ประสบปัญหาหนัก คือ ยางประสบโรคใบร่วง จึงไม่ได้ขายยางราคาดังกล่าว ซึ่งทางสถาบันวิจัยยาง และฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กำลังเร่งศึกษาและหาทางช่วยเหลือ กำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือ
ทางด้านตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ ตอนกลาง เรียกร้องให้การยางแห่งประเทศไทย และรัฐบาลเร่งวางแผนรับมือ เพราะเชื่อว่าราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติขณะนี้ เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง เมื่อทางบริษัทมียางในสต็อกมากพอ ก็จะจับมือกันกดราคา ทำให้ราคาดิ่งหัวลง เหมือนดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งสถาบันเกษตรกรต่างๆที่รับซื้อน้ำยางสดมาแปรรูปทำเป็นยางแผ่นรมควัน จะยิ่งเดือดร้อนหนัก ส่งผลให้เกิดการขาดทุนทุกครั้ง จึงขอเสนอเรียกร้องให้ กยท.และรัฐบาล ดำเนินการ เปิดโรงงานใหม่ๆ รองรับผลผลิตจากเกษตรกร ลดการส่งออก เช่น การก่อตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง การก่อสร้างโรงงานยางล้อรถยนต์ รองรับหน่วยธุรกิจ (BU) ที่ขณะนี้ทำได้เพียงการเข้าแทรกแซงราคาในตลาดกลาง แล้วนำยางแผ่นรมควันดังกล่าวไปขายต่อเท่านั้น แต่ไม่สามารถช่วยพยุงราคาได้ ดังนั้น จึงต้องสร้างโรงงาน เพื่อดึงยางไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ลดปัญหาการส่งออก โดยให้สถาบันเกษตรกร ลงทุนร่วมกับ กยท., รวมทั้งรัฐบาลควรเปิดตลาดใหม่ๆให้หลากหลายในหลายประเทศ ชดเชยตลาดจีนเพียงตลาดเดียว และต้องเป็นตลาดซื้อขายจริงแทนตลาดซื้อขายล่วงหน้า จะได้ไม่เปิดช่องให้บริษัทเอาเปรียบเกษตรกร
ทางด้านผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า การดำเนินธุรกิจด้วยการเปิดโรงงานใหม่นั้น ที่ผ่านมาองค์กรรัฐวิสาหกิจ ไม่เคยประสบความสำเร็จ มีแต่จะล้มเหลว ควรที่ทางสถาบันเกษตรกรจะต้องพึ่งตนเอง สร้างตนเองให้เข้มแข็ง พร้อมเสนอแนะสถาบันให้เสนอโครงการชะลอซื้อ และรักษาเสถียรภาพราคายางด้วยสถาบันเอง โดย กยท.พร้อมสนับสนุนงบประมาณ เพราะหากสถาบันทำได้ จะเป็นกำหนดสินค้าออกสู่ตลาด กำหนดราคาต่อรองด้วยสถาบันเอง สำหรับ ราคายางพาราขณะนี้ปรับขึ้นรายวัน นับตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากเดิมปรับขึ้นวันละ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม แต่ห้วง 3-4 วันที่ผ่านมาปรับตัววันละ 5-6 บาทต่อกิโลกรัม จนขณะนี้ในระยะเวลาประมาณครึ่งเดือน ราคายางปรับขึ้นถึง 30 บาท โดยราคาน้ำยางสดจากเดิมกิโลกรัมละ 42 -43 บาท มาอยู่กิโลกรัมละ 71 -72 บาท ส่วนยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 จากเดิมกิโลกรัมละ 58 บาท ขณะนี้ปรับขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท.
ขอบคุณที่มา : one31.net