เลขาฯ สศก. ระบุ จีดีพีภาคเกษตรไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 แต่ยังคงหดตัว 0.4 คาดตลอดทั้งปี ยังหดตัวในช่วงร้อยละ -3.4 ถึง -2.4
เลขาฯ สศก. ระบุ จีดีพีภาคเกษตรไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 แต่ยังคงหดตัว 0.4 คาดตลอดทั้งปี ยังหดตัวในช่วงร้อยละ -3.4 ถึง -2.4
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2563 (กรกฎาคม – กันยายน 2563) พบว่า หดตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยสาขาพืช ประมง บริการทางการเกษตร และป่าไม้หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่ที่ยังคงหดตัว ฃเนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งที่ต่อเนื่องถึงช่วงกลางปี เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีน้อยกว่าปีที่ผ่านมาส่งผลให้สาขาพืชซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักยังคงหดตัวที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ลดลงได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน มังคุด และเงาะ ขณะที่ผลผลิตยางพาราลดลงจากจำนวนวันกรีดยางที่ลดลงเพราะฝนตกชุก รวมถึงการขาดแคลนแรงงานในการกรีดยาง นอกจากนี้การผลิตพืชหลักที่ลดลงยังส่งผลให้สาขาบริการทางการเกษตรหดตัวตามไปด้วย โดยไตรมาส 3 หดตัวที่ร้อยละ 0.2 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร
สำหรับสาขาประมงหดตัวที่ร้อยละ 0.9 จากปริมาณการเลี้ยงกุ้งทะเลและสัตว์น้ำจืดที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง ส่งผลให้เกษตรกรปรับลดพื้นที่การเลี้ยง ปรับลดจำนวนลูกพันธุ์ และชะลอการลงลูกกุ้ง ส่วนสาขาป่าไม้หดตัวร้อยละ 1.0 จากปริมาณผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยางพารา และครั่ง ที่ลดลงตามความต้องการของตลาดและการส่งออกที่ชะลอตัว
ส่วนสาขาปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.4 จากการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกเนื้อไก่ที่สำคัญของไทย และการใช้สายพันธุ์โคนมที่เหมาะสมส่งผลให้อัตราการให้น้ำนมเพิ่มขึ้น
นายฉันทานนท์ กล่าวต่อว่า ผลการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรตลอดปี 2563 พบว่า จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -3.4 ถึง -2.4 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยสาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรมีทิศทางหดตัวลงตามการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิดที่มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากหลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร แม้ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนมีฝนตกเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนสาขาประมงคาดว่า จะปรับตัวลดลงเพราะทั้งการทำประมงทะเลและประมงน้ำจืด เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเลี้ยง ในขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
“การคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 สศก. ยังมีปัจจัยและสถานการณ์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องได้แก่ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อและความเสี่ยงของการกลับมาระบาดในรอบที่ 2 และความเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งในด้านการค้าและความมั่นคงที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุน” นายฉันทานนท์กล่าว
ขอบคุณที่มา : สำนักข่าวไทย