โครงการสร้างต้นแบบปลูกผักโรงเรือนใช้น้ำน้อยทำ “เกษตรแม่นยำ”

โครงการสร้างต้นแบบปลูกผักโรงเรือนใช้น้ำน้อยทำ “เกษตรแม่นยำ”
บ้านโคกล่าม – แสงอร่าม จ.อุดรธานี สร้างต้นแบบปลูกผักโรงเรือนใช้น้ำน้อยทำ “เกษตรแม่นยำ”
นายสุรจิตร นามน้อย หัวหน้าพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ จ.อุดรธานี เปิดเผย โครงการปลูกผักในโรงเรือนแก้ปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ว่าหลังจาก ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่อีสานและได้พูดคุยทำประชาคมกับชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ได้บทสรุป 4 ข้อ คือ
1. ต้องเร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง
2. ใช้การตลาดนำการผลิต
3. ทำจากง่ายไปหายาก
4. ทำน้อยได้มาก
โดยใช้โรงเรือนในการปลูกผักและใช้ระบบน้ำหยดที่ได้จากน้ำในห้วยและบ่อบาดาล มีเกษตรกรเข้าร่วม 19 ราย ในพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ มี 4 แปลง สามารถปลูกโรงเรือนได้ 20 โรง ให้เกษตรกร 19 รายเป็นผู้ดูแล ส่วนอีกแปลงทางปิดทองหลังพระฯ ทำเป็นแปลงทดสอบ
ทั้งนี้ใน 1 ไร่ ปลูกโรงเรือนได้ 5 โรง โดยเกษตรกรที่เป็นเจ้าของพื้นที่จะได้โรงเรือนฟรี 1 โรง แต่ต้องยินยอมให้เกษตรกรรายอื่นเข้ามาปลูกพืชในโรงเรือนที่เหลือด้วย ซึ่งโรงเรือน 1 โรง ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนกว่าบาท ทางปิดทองหลังพระฯ สำรองจ่ายเงินไปให้ก่อน จากนั้นเกษตรกรจะต้องผ่อนใช้
นายสุรจิต กล่าวว่า ในช่วงแรกเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เกษตรกรขอปลูกพืชที่ถนัดก่อน 2 ชนิด คือ ต้นหอมกับผักชีจีน ซึ่งจะได้ผลผลิตในวันที่ 16 มีนาคม ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องทำตามเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. ปลูกผักมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ 2. ต้องมีความต่อเนื่อง และ 3.ต้องมีปริมาณเพียงพอ
“หลังจากได้ผลผลิตแล้วจะส่งขายให้กับทางห้างแม็คโคร โดยตั้งเป้าว่าจะส่งให้สัปดาห์ละ 200 กิโลกรัม (ก.ก.) แยกเป็นต้นหอม 100 ก.ก. ผักชีจีน 100 ก.ก. ซึ่งการดำเนินการแบบนี้ต่อไปจะเป็นโมเดลให้กับเกษตรกรทั่วไป เพราะในแต่ละปีเกษตรกรปลูกผักได้ 8 รอบ ใช้เวลารอบละ 45 วัน ขายได้รอบละ 7,000 บาท แต่ในช่วงแรกจะได้กำไรไม่มากแค่ 1,000 บาท เพราะเป็นการลงทุนที่ใช้เงินก้อนใหญ่ แต่รอบต่อไปจะได้กำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการประเมินพบว่า ถ้าปลูกผักในโรงเรือนแบบนี้จะได้ผลตอบแทนมากกว่าการทำนาปกติถึง 25 เท่า อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ต้องเลือกปลูกผักที่ขายได้ราคามากกว่านี้
สำหรับโมเดลบูรณาการความร่วมมือ โครงการปลูกผักในโรงเรือนแก้ปัญหาภัยแล้ง ดังกล่าว นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เผยกระบวนการดำเนินโครงการฯ นี้จนเกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจว่า
• สถาบันฯ ได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ 19 ราย ที่อยู่ในพื้นที่บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ปลูกผักอยู่แล้ว มีพื้นที่ทำการเกษตรที่มีต้นทุนน้ำเพียงพอ และพร้อมแบ่งพื้นที่ให้เกษตรกรรายอื่นที่เข้าร่วมด้วย
• สถาบันฯ ลงทุนสร้างโรงเรือนปลูกผักต้นแบบ แก้ปัญหาภัยแล้งให้
• ตั้งกองทุนเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ กำหนดให้สมาชิกกองทุนฯ ต้องคืนเงินสมทบเข้ากองทุนหลังจากมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตแล้ว
• แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ที่มาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เป็นที่ปรึกษาในแต่ละด้านให้กับเกษตรกร ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
โดยการเชื่อมโยงองค์ความรู้ นวัตกรรม และตลาด ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางนี้ มาจากความร่วมมือของภาคีทุกภาคส่วน ในลักษณะการบูรณาการความร่วมมือ ดังนี้
• ต้นทาง: สร้างครัวเรือนพึ่งตนเอง
ให้ความรู้และนำสู่การปฏิบัติจริง บริหารจัดการการใช้น้ำในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปรับเอาหลัก การเกษตรแบบแม่นยำ “จากง่ายไปยาก ทำน้อยได้มาก” คือ เริ่มด้วยการปลูกผักที่ชาวบ้านคุ้นเคยและปลูกง่าย อย่าง ผักชี ต้นหอม
โดยในการปลูก ทางสถาบันฯ ได้ชักนำหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมมือกันให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาแก่เกษตรกรในทุกขั้นตอน
1. การเพาะกล้า: สำนักงานเกษตรอำเภอ และเครือเจริญโภคภัณฑ์
2. การทำวัสดุปลูก: สถานีพัฒนาที่ดิน และเครือเจริญโภคภัณฑ์
3. ระบบน้ำต้นทุน ในรูปแบบของน้ำหยดและละอองน้ำ เพื่อประหยัดน้ำ: สำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น
4. โรงเรือนปลูกผัก ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ: จ้างช่างมืออาชีพ มาเป็นที่ปรึกษา
5. การจัดการแปลงเกษตรชุมชน: สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
กลางทาง: รวมกลุ่มเพื่อรับผิดชอบและบริหารจัดการแบบพึ่งตนเอง
พัฒนาผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น การสร้างมาตรฐาน เกษตรปลอดภัย หรือ GAP และรวมกลุ่มดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิก
ปลายทาง: เชื่อมโยงสู่ตลาด “โมเดิร์นเทรด” ภายนอกส่งผักให้ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด สัปดาห์ละ 100 กิโลกรัมเมื่อหลัก “เกษตรทฤษฎีใหม่” เจอกับ “เกษตรแม่นยำ” ผลคือรายได้พอมีพอกินและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นถ้วนหน้า
ด้วยการเดินตามโมเดลที่กล่าวมาข้างต้นนี้เอง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกผักที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถหารายได้จากการปลูกผักได้อย่างยั่งยืน แบบไม่หวั่นแม้ภัยแล้งจะยาวนาน โดย จุลัยพร แทนจำรัส เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้พูดถึงผลดีที่ได้รับจากโครงการฯ นี้ว่า
“ก่อนกลับบ้านเกิดมาทำเกษตร มาปลูกผัก เคยไปใช้ชีวิตเป็นลูกจ้างในโรงงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ประมาณ 3 ปี จากนั้นตัดสินใจกลับบ้านที่อุดรฯ มาเป็นเกษตรกร เพราะที่บ้านมีที่ดิน 14 ไร่ พอมีโครงการฯนี้ก็เลยเข้าร่วม และลองแบ่งที่ดินจำนวน 1 ไร่ มาสร้างโรงเรือน แล้วจึงเริ่มปลูกผักลงแปลงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา”
“การปลูกผักในโรงเรือนด้วยการใช้เทคนิคเกษตรแม่นยำนี้ ตอบโจทย์ทั้งภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นและช่วยให้การทำเกษตรง่ายขึ้น แบบทำน้อยแต่ได้รายได้มาก เพียงแค่วางแผนและเปลี่ยนมาปลูกผักแบบประณีตและใส่ใจมากขึ้นเท่านั้น”
โดยการปลูกผักในโรงเรือนแบบใช้น้ำน้อย ที่ทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นำมาเผยแพร่นี้ มีข้อดีหลากหลายด้านทีเดียว
ด้วยเทคนิคการทำเกษตรแบบแม่นยำ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสามารถวางแผน กำหนดระยะเวลาการปลูกได้ถูกต้องในช่วงแรกเริ่ม สามารถเลือกผักที่ปลูกง่ายและมีความคุ้นเคยเพื่อทดลองปลูกก่อน อย่าง ต้นหอม ผักชี ซึ่งในช่วงหน้าแล้งจะเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ขายได้ราคาดีโดยโรงเรือนปลูกผัก มีขนาด 6 × 24 เมตร มีโต๊ะปลูกผักจำนวน 16 โต๊ะ เฉลี่ยแล้วปลูกได้ 5,000 ต้น ใน 1 ปี ปลูกได้ถึง 8 ครั้ง
• รดผักด้วยระบบ “น้ำหยด” และละอองน้ำ ช่วยให้ประหยัดน้ำได้มากโดยเกษตรกรสามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อบาดาลที่มีอยู่ สูบน้ำขึ้นมาด้วยเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ไปไว้ในถังพักน้ำ และกระจายน้ำสู่โต๊ะเพาะปลูก ระบบนี้จะใช้น้ำน้อยกว่าการรดด้วยสปริงเกอร์ถึง 18 เท่า และถ้าเทียบกับการปลูกข้าวแล้ว ใช้น้ำน้อยกว่าถึง 112 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่
• ปลูกพืชบนโต๊ะ ดีต่อสุขภาพเกษตรกร ไม่ต้องก้มด้วยการปลูกผักบนแปลงที่ยกขึ้นสูงจากพื้น ในระดับโต๊ะมาตรฐานทั่วไป จึงดีต่อสุขภาพของเกษตรกร ไม่ทำให้ปวดหลัง และด้วยวิธีนี้ยังทำให้ดูแลผักที่ปลูกได้ประณีตมากขึ้นด้วย
• แมลงน้อย ประหยัดปุ๋ยมากขึ้นแม้ว่าในช่วงแรกเริ่มจะต้องลงทุนโรงเรือนปลูกผักที่มีราคาสูง ประมาณ 140,000 บาท ทว่า ด้วยการปลูกแบบนี้ จะช่วยให้เกษตรกรประหยัดในเรื่องการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เพราะโรงเรือนที่ปลูกผักแบบโต๊ะนี้จะสามารถควบคุมดินปลูก ป้องกันแมลงได้ด้วย เพราะแปลงที่ยกสูงขึ้นมาจากพื้นดินนั่นเอง
ที่สุดแล้ว ทางโครงการได้เก็บข้อมูลรายได้ของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดของคุณจุลัยพร เกษตรกรตัวจริง ที่ยืนยันว่า ด้วยวิธีปลูกผักแบบนี้ “ทำน้อยได้มาก” จริง ๆ
เพราะการปลูกต้นหอม ผักชี ในแบบเกษตรแม่นยำนี้ สร้างกำไรให้เกษตรกรสูงถึง 194,644 บาท ต่อไร่ต่อปี มากกว่าการปลูกข้าวและพืชหลังนา 25 เท่า และมากกว่า มันสำปะหลังถึง 71 เท่า
ด้วยผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจนี้เอง นายการัณย์ ยืนยันว่า จะต่อยอดความสำเร็จนี้ไปวิจัยและพัฒนาต่อ และทำเป็นแนวทางปลูกผักในโรงเรือนระบบน้ำหยดแบบแม่นยำ พร้อมนำไปขยายผลแก้ปัญหา วิกฤตภัยแล้ง ปี 2563 ในพื้นที่ จังหวัดกาฬสินธุ์และขอนแก่นต่อไป















ขอบคุณที่มา : มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ