เตือน !! ผู้ที่ปลูกมะพร้าวเตรียมรับมือ “หนอนหัวดำมะพร้าว” แทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบ
เตือน !! ผู้ที่ปลูกมะพร้าวเตรียมรับมือ “หนอนหัวดำมะพร้าว” แทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบ
เตือน !! ผู้ที่ปลูกมะพร้าวเตรียมรับมือ
“หนอนหัวดำมะพร้าว”
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นลง และมีลมแรง เตือนผู้ปลูกมะพร้าว ในระยะ ยังไม่ให้ผลผลิต ให้ผลผลิตแล้ว รับมือหนอนหัวดำมะพร้าวตัวหนอนเข้าทำลายใบมะพร้าว โดยแทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบจากนั้นจะถักใยนำมูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้น นำมาสร้างเป็นอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามทางใบบริเวณใต้ทางใบ ตัวหนอนอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบ โดยทั่วไปหนอนหัวดำมะพร้าวชอบทำลายใบแก่ หากการทำลายรุนแรงจะพบว่า หนอนหัวดำมะพร้าวทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายทางใบหลายๆ ทาง พบว่าหนอนหัวดำมะพร้าวจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้วจะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ดักแด้เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าดักแด้เพศเมียเล็กน้อย ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวที่ผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่บนเส้นใยที่สร้างเป็นอุโมงค์ หรือซากใบที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายแล้ว ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๑–๒ วัน ก่อนจะย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว จึงมักพบหนอนหัวดำมะพร้าวหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบมะพร้าวใบเดียวกัน หากการทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล ตัดใบที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวนำไปเผาทำลายทันที ไม่ควรเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มะพร้าวหรือพืชตระกูลปาล์มมาจากแหล่งที่มีการระบาด
2. การใช้ชีววิธี การใช้แตนเบียนที่เฉพาะเจาะจงกับหนอนหัวดำมะพร้าว เช่น แตนเบียนโกนีโอซัส นีแฟนติดิส (Goniozus nephantidis) โดยปล่อยช่วงเวลาเย็น พลบค่ำ อัตรา 200 ตัวต่อไร่ต่อครั้ง ให้กระจายทั่วแปลงเดือนละครั้ง ถ้าปล่อยแตนเบียนได้มากจะทำให้เห็นผลในการควบคุมเร็วขึ้น
3. การใช้สารเคมี
3.1 ใช้สารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC เข้มข้นโดยไม่ต้องผสมน้ำฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าวอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยใช้สว่านเจาะรูให้เอียงลงประมาณ 45 องศา จำนวน 2 รู ให้ตรงข้ามกัน เจาะรูให้ลึก 10 – 15 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของดอกสว่าน ตำแหน่งของรูอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร แล้วฉีดสารฆ่าแมลงลงไปรูละ 15 มิลลิลิตร ปิดรูด้วยดินน้ำมัน วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวได้นานมากกว่า 3 เดือน (วิธีการนี้สามารถป้องกันกำจัดศัตรูชนิดอื่นได้ด้วย เช่น ด้วงแรดมะพร้าว ด้วงงวงมะพร้าวแมลงดำหนามมะพร้าว)
** แนะนำเฉพาะมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ขึ้นไป ห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาล
3.2 กรณีมะพร้าวต้นเล็กที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวกะทิ มะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาล ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง และไม่มีการปล่อยแตนเบียน ให้พ่นทรงพุ่มด้วยสารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม หรือคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร (สารนี้มีพิษสูงต่อกุ้ง ไม่ควรใช้บริเวณที่มีการเลี้ยงกุ้ง) โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งตามอัตราที่กำหนดผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่มบริเวณใต้ใบ 1 – 2 ครั้ง ควรใช้เครื่องยนต์พ่นสารที่สามารถควบคุมแรงดันได้ และมีแรงดันไม่น้อยกว่า 30 บาร์ กรณีที่มีการปล่อยแตนเบียน ให้พ่นสารเคมีก่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ ค่อยทำการปล่อยแตนเบียน กรณีที่มีการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหนอนหัวดำมะพร้าวสามารถใช้วิธีการนี้ได้เช่นเดียวกัน
ดาวน์โหลดเอกสาร “การจัดการศัตรูมะพร้าว”
ขอบคุณที่มา : facebook เพจ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
One Comment