ทำความรู้จัก เกษตรทฤษฎีใหม่ ศาสตร์พระราชาสู่ “โคก หนอง นา โมเดล”
ทำความรู้จัก เกษตรทฤษฎีใหม่ ศาสตร์พระราชาสู่ “โคก หนอง นา โมเดล”
โคก สร้างโคกบนพื้นที่ของตนเอง จากการนำดินที่ได้จากการขุดหนอง นำมาถมเป็นโคกเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งปลูกต้นไม้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา คือ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อพอกิน เพื่อใช้สอยในครัวเรือนหรือพอใช้ และเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยหรือพออยู่ จากนั้นประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ช่วยสร้างสมดุลระบบนิเวศ เพราะใบไม้ที่ร่วงหล่นจะช่วยปกคลุมหน้าดิน ในขณะที่รากจำนวนมากช่วยดูดซับน้ำฝน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใต้โคกเป็นน้ำใต้ดินเพิ่มความชุ่มชื้น
หนอง ขุดหนอง รูปร่างคดโค้งอิสระ ไม่เป็นสี่เหลี่ยม เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และสามารถใช้เป็นที่รองรับน้ำยามน้ำท่วมหลาก และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา
นา ยกหัวคันนาให้กว้างและสูงอย่างน้อย 1 เมตร ธรรมชาติของข้าวจะทะลึ่งน้ำไม่จมน้ำตาย เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ในนา ขุดร่องใกล้หัวคันนา เป็นที่อยู่ของปลา ปู ปั้นหัวคันนาให้มีความกว้างมากพอที่จะปลูกต้นไม้ พืชผัก ให้มีรากยึดเหนี่ยวคันนา และเพิ่มพื้นที่ทำกิน
คลองไส้ไก่ ช่วยระบายน้ำรอบพื้นที่ โดยขุดให้มีลักษณะคดเคี้ยว เพื่อให้น้ำไหลได้ทั่วถึงตลอดทั้งพื้นที่เพื่อใช้ทำการเกษตรและช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนดินและต้นไม้โดยรอบ
ฝายชะลอน้ำช่วยชะลอและกักเก็บน้ำจากต้นน้ำไว้ในพื้นที่ เพื่อไม่ให้น้ำหลากลงมาสร้างความเสียหายกับพื้นที่ลุ่มด้านล่างและช่วยกักตะกอนดินไม่ให้ลงมาสะสมในหนอง คลอง บึง หรือเขื่อน นอกจากนั้น สำหรับพื้นที่กลางน้ำฝายชะลอน้ำยังช่วยยกระดับน้ำเพื่อเก็บไว้ในพื้นที่อีกด้วย
ด้วยรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” นี้ หากมีเกษตรกรมีพื้นที่รายละ 10 ไร่ คิดเป็น 1 หลุมขนมครก จะสามารถเก็บกักน้ำได้ปีละประมาณ 40,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีโดยเป็นน้ำบนดินประมาณ 20,000 ลูกบาศก์เมตร และเมื่อมีป่าชุ่มชื้นจะสามารถเก็บกักน้ำใต้ดินได้เพิ่มขึ้นอีก ถ้าทุกคนในลุ่มน้ำป่าสัก หรืออย่างน้อย 100,000 ราย ร่วมมือร่วมใจกันสร้าง 100,000 หลุมขนมครก จะสามารถเก็บกักน้ำได้กว่าสี่พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็นมากกว่า 4 เท่าของความจุเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้และที่สำคัญคือมีน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง สามารถปลูกพืชพันธุ์ได้ตลอดปี มีพอกิน พออยู่ พอใช้ เกิดทั้ง “ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน” ในเวลาเดียวกัน
ทำความรู้จัก เกษตรทฤษฎีใหม่ ศาสตร์พระราชาสู่ “โคก หนอง นา โมเดล”
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ ศูนย์ประสานงานโครงการ โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน | เว็บไซต์ ครูอาชีพดอทคอม
2 Comments